การใส่ปุ๋ยเสาวรส
พันธุ์ ในประเทศไทยมีเสาวรสที่ปลูกทั่วไป 3 พันธุ์คือ พันธุ์สีม่วง เมื่อสุกเปลือกสีม่วง เนื้อในสีเหลือง รสอมหวานมากกว่าพันธุ์อื่นๆ แต่ไม่ค่อยต้านทานโรคในเขตร้อน พันธุ์สีเหลืองหรือเสาวรสสีทอง ผลแก่สีเหลือง รสเปรี้ยวมาก นิยมปลูกในเขตร้อน พันธุ์ผสม เมื่อสุกเป็นสีม่วงอมแดง รสเปรี้ยวจัด กลิ่นแรง สามารถปักชำและเสียบยอดได้
การเตรียมดิน ควรทำไว้ก่อนล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน (ถ้าสามารถปลูกพืชที่เป็นพืชสดอย่าง ถั่วเขียว ข้าวโพด ปอเทือง แล้วกลบล่วงหน้า 1 เดือน จะทำให้ดินร่วนซุยและเก็บกักน้ำในฤดูแล้งได้ดี) โดยการไถหรือขุดพลิก หน้าดินกำจัดวัชพืช ไถกลบเพื่อให้ดินร่วมซุย สามารถกักเก็บน้ำในฤดูแล้งได้ดี ในพื้นที่สูงควรไถเฉพาะแนวปลูกและระหว่างแถวปลูกควรตัดหญ้าให้สั้น หรือปลูกพืชคลุมดิน เพื่อป้องกันการพังทลายของดิน รองก้นหลุมด้วยหินฟอสเฟตในอัตรา 100 - 150 กก./ไร่ หรือใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพของดินในพื้นที่
วิธีการปลูก ระยะปลูก มีตั้งแต่ 3 - 6 เมตร เนื่องจากเสาวรสมีลำต้นเป็นเถาเลื้อยจึงควรมีการทำค้างแบบซุ้ม จะทำให้ได้ผลผลิตที่สูงกว่าการทำค้างแบบอื่น เกษตรกรต้องลงทุนทำค้างในปีแรกและเนื่องจากเสาวรสจะออกดอกในกิ่งที่แตกใหม่เท่านั้น จึงต้องมีการตัดแต่งกิ่งในปีต่อมา หลังจากการเก็บเกี่ยว ผลผลิตแล้ว ( ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม ) เพื่อบังคับให้แตกยอดใหม่ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตสูงกว่าเดิม และสูงกว่าต้นที่ไม่ได้ตัดแต่งกิ่ง แต่ไม่ควรตัดหนักเกินไป เพราะจะทำให้ต้นโทรมแห้งตายได้ในภายหลัง
การให้น้ำ เสาวรสมีความต้องการน้ำมากในช่วงของการออกดอก ติดผลไปจนถึงระยะเก็บเกี่ยว ในพื้นที่ปลูกที่อาศัยน้ำฝนเสาวรสจะให้ผลผลิตมาก ตั้งแต่เดือน กันยายน - ธันวาคม หลังจากนั้นจะกระทบแล้ง ผลเสาวรสจะร่วงหล่นก่อนแก่ และชะงักการเจริญเติบโต พอเข้าฤดูฝนก็จะแตก กิ่งก้าน สาขาใหม่ ถ้าหากสามารถให้น้ำแก่เสาวรสได้ตลอดปี จะทำให้มีผลผลิตทยอยออกทั้งปีได้ เสาวรสเป็นพืชที่มีระบบรากตื้น ดังนั้นจึงควรมีการคลุมโคนต้นในช่วงฤดูแล้ง เพื่อรักษาความชื้นในดิน
การใส่ปุ๋ย ช่วงแรกจะใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 รองก้นหลุมในการปลูก ช่วงของการเริ่มติดผลให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 30-0-0 และ 15-15-15 ในปริมาณ 1-2 กำมือต่อต้นทุกๆ 15 วัน เมื่อติดผลแล้วให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 จำนวน 1 กำมือต่อต้น ใส่ทุกๆ 15วัน
การเก็บเกี่ยว เสาวรสที่ต้องนำผลผลิตเข้าโรงงานเพื่อแปรรูป ปกติจะเก็บเกี่ยวผลที่สุกแก่และร่วงหล่นลงดิน ทุก 2-3 วัน โดยผลมีอายุ 50-70 วัน หลังดอกบานหรือถ้าสามารถเก็บผลจากต้นเมื่อผลเปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองหรือสีม่วงแล้ว 25 % และสามารถเก็บไว้ได้นาน 1 สัปดาห์ โดยไม่มีผลเสียต่อคุณภาพน้ำคั้น แต่จะมีกลิ่นแรงกว่าผลที่เก็บจากต้นใหม่ๆ
โรคและแมลงศัตรูที่พบ โรคร้ายแรงที่พบในแหล่งปลูกใหญ่ๆคือ โรคใบหงิกที่เกิดจากเชื้อไวรัส โดยมีเพลี้ยอ่อนเป็นพาหะและติดต่อได้ ถ้าใช้เครื่องมือตัดแต่งกิ่งร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีพืชอาศัยตระกูลแตงและฟักทอง โรคนี้จะแสดงอาการรุนแรงในช่วงอากาศเย็น ทำให้ใบด่าง หงิกและงอ ขนาดของผลเล็กลง โรคสำคัญอีกโรคหนึ่งคือ โรคจุดสีน้ำตาลเกิดจากเชื้อรา มีอาการใบร่วงและจุดสีน้ำตาลที่ผล ป้องกันโดยฉีดพ่นด้วยสารประกอบคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ แมลงศัตรูที่พบได้แก่ แมลงวันทอง ซึ่งจะเจาะผลอ่อนให้เป็นรูเล็กๆ และอาจทำให้ผลเหี่ยวและร่วงหล่นไป