การใส่ปุ๋ยลำไย
พันธุ์ ที่พบในปัจจุบันอาจแบ่งได้ 2 ชนิด ตามลักษณะการเจริญเติบโต ลักษณะผล เนื้อ เมล็ด และรสชาติ คือ ลำไยเครือหรือลำไยเถา มีลำต้นเลื้อยคล้ายเถาวัลย์ มีผลเล็ก เมล็ดโต เนื้อผลมีกลิ่นคล้ายกำมะถัน ปลูกไว้เป็นไม้ประดับมากกว่ารับประทาน และลำไยต้น แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ 1) ลำไยพันธุ์พื้นเมือง 2) ลำไยกะโหลก มีอยู่หลายพันธุ์
การเตรียมดิน
1 การเตรียมพื้นที่ปลูกลำไยในที่ลุ่ม
พื้นที่ลุ่มส่วนมากเปลี่ยนจากพื้นที่นาเป็นสวนลำไย ลักษณะพื้นที่นั้นมักมีน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน สภาพดินเป็นดินเหนียว มีระดับน้ำใต้ดินสูง จึงต้องขุดร่องแล้วดินที่ขุดขึ้นมาถมให้เป็นแปลงสูงพอให้พ้นน้ำท่วมขัง แปลงปลูกควรมีความกว้างประมาณ 6 - 8 เมตร ร่องน้ำระหว่างแปลงกว้างประมาณ 1 - 2 เมตร ลึก 0.5 - 1.5 เมตร ถ้าต้องการดินขึ้นถมแปลงมากๆ ก็ขุดให้ลึก หลังจากขุดเสร็จควรปล่อยให้ดินยุบตัวสักระยะหนึ่งจึงทำการวางระยะปลูก
2 การเตรียมพื้นที่ปลูกลำไยในที่ดอน
พื้นที่ดอนจะเป็นพื้นที่น้ำท่วมไม่ถึง เช่น พื้นที่ป่าเปิดใหม่หรือพื้นที่ที่ใช้ปลูกพืชไร่ การเตรียมพื้นที่ดอนเพื่อทำสวนลำไยต้องพิจารณาถึงปัจจัยเรื่องการให้น้ำแก่ต้นลำไย ควรวางแผนและจัดเตรียมหาแหล่งน้ำไว้ให้พร้อมสำหรับอนาคต พร้อมทั้งปลูกพืชบังลม เนื่องจากพื้นที่ดอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เชิงเขาลมมักจะพัดแรงจัดถ้าไม่มีการป้องกัน อาจทำให้ต้นลำไยเกิดการโค่นล้มเสียหาย นอกจากนี้ในช่วงหน้าแล้งควรทำแนวกันไฟไว้รอบๆ สวน
ระยะปลูก 8 – 12 x 8 –12 เมตร
การเตรียมหลุมปลูก ขนาด 80x80x80 เซนติเมตร
การปลูก ส่วนใหญ่ปลูกด้วยกิ่งตอน การปลูกจะขุดตรงกลางหลุมให้ลึกเท่ากับภาชนะที่ใช้ชำ ใส่ฟูราดานรองก้นหลุมประมาณครึ่งช้อนแกง เพื่อป้องกันปลวกและแมลงในดิน จากนั้นกลบดินให้แน่น ให้สูงกว่าระดับพื้นดินทั่วไปเล็กน้อยเพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง ปักหลักป้องกันลมโยกต้นลำไย
การให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอประมาณสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง จนต้นลำไยตั้งตัวได้ดีแล้วก็ให้น้ำตามความจำเป็น
การใส่ปุ๋ย ระยะหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 1 กก./ต้น ระยะใบแก่ ให้ใส่สูตร 8-24-24 ประมาณ 1 กก./ต้น เพื่อบำรุงให้มีการสะสมอาหารและการสร้างตาดอก ระยะติดผลขนาดเล็ก ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 ประมาณ 0.5 กก./ต้น เพื่อบำรุงให้ผลโตอย่างสม่ำเสมอ และระยะก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 30 วัน ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 ประมาณ 0.5 กก./ต้น
การเก็บเกี่ยว ลำไยที่พร้อมเก็บเกี่ยวลูกจะใหญ่เต็มที่ ลายบนผิวเปลือกจะมีลักษณะห่างหรืกางออกจนเห็นได้ชัดเจน เมื่อสัมผัสผิวผลจะรู้สึกด้านหยาบ ที่โหนกแก้มของผลลำไยทั้งสองข้างจะกางออกให้เห็นได้ชัดเจน ควรใช้ บันได หรือ พะอง พาดกิ่งขึ้นไปใช้กรรไกรตัดข้อผลให้ลึกเข้าไปประมาณ 1 ฟุต จากปลายช่อ
โรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคพุ่มไม้กวาด โรคหงอย โรคจุดสาหร่ายสนิม โรคราสีชมพู โรคราดำ
แมลงที่สำคัญ ได้แก่ มวนลำไย หนอนม้วนใบ หนอนคืบกินใบ (แมลงบุ้งลำไย) แมลงค่อมทอง ผีเสื้อมวนหวาน หนอนกินดอกลำไย หนอนเจาะกิ่งและลำต้น เพลี้ยหอย และเพลี้ยแป้ง