www.Stats.in.th
  สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

การใส่ปุ๋ยเผือก

  • เผือก                                                                            

      เผือกเป็นพืชเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นที่สำคัญอีกพืชหนึ่ง  คนไทยนิยมบริโภคเผือก เพราะมีกลิ่นหอมและรสชาติดี  เป็นพืชหัวที่เป็นพืชอาหารที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง  หัวเผือกจะมีส่วนประกอบเป็นพวกแป้งและแร่ธาตุต่างๆ  ส่วนใบประกอบด้วยโปรตีนและแร่ธาตุ ซึ่งใบเผือกสามารถนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย และมีเผือกบางประเภทที่ใช้ใบสำหรับบริโภคซึ่งหัวจะมีขนาดเล็ก  ไม่เหมาะต่อการบริโภค ปัจจุบันเผือกกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศเช่น ออสเตรเลีย  ฮ่องกง  ญี่ปุ่น  เนเธอร์แลนด์  และมาเลยเซีย

       ประเทศไทยมีการปลูกเผือกอยู่ทั่วไปทุกภาคของประเทศ  มีพื้นที่ปลูกเผือกทั้งประเทศปีละ  ประมาณ  25,000-30,000 ไร่ ผลผลิตประมาณ  45,000-65,000 ตัน ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ  2-2.5 ตันต่อไร่  ส่วนจังหวัดที่เป็นแหล่งปลูกสำคัญ  ได้แก่  จังหวัดเชียงใหม่  นครสวรรค์  พิษณุโลก  นครราชสีมา  สุรินทร์  สระบุรี  อยุธยา  สิงห์บุรี  ปราจีนบุรี  นครนายก  นครปฐม  ประจวบคีรีขันธ์  ราชบุรี  สุพรรณบุรี ชุมพร  และสุราษร์ธานี

       สภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม

       เผือกเป็นพืชหัวที่มีต้นคล้ายบอน  มีความต้องน้ำ  หรือความชื้นในการเจริญเติบโตค่อนข้างสูง เผือกจึงชอบดินอุดมสมบูรณ์  และสามารถอุ้มน้ำไว้ได้มาก สามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยในแหล่งที่มีระบบน้ำชลประทานดีจะสามารถปลูกเผือกได้ตลอดปี ส่วนในแหล่งที่มีน้ำจำกัดควรปลูกเผือกในช่วงฤดูฝนเท่านั้น เผือกปลูกได้ทั้งที่ลุ่มและดอน สภาพไร่ ที่ราบสูงไหล่เขา และปลูกได้ในดินหลายชนิด ยกเว้นดินลูกรังดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูกเผือกมากที่สุด คือ ดินร่วนปนทราย มีอินทรียวัตถุสูง หน้าดินลึก ระบายน้ำดี โดยปกติจะใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักจำนวนมากก่อนปลูกโดยหว่านและไถกลบก่อนปลูก 2-3 เดือน และเพิ่มปุ๋ยไนโตรเจน (N) และโพแทสเซียม (K) ระหว่างพืชเจริญเติบโตจะในผลดี ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน (pH) ระหว่าง 5.5-6.5 อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตประมาณ 21-27 องศาเซลเซียส โดยทั่วไปจะปลูกเผือกในระดับความสูงไม่เกิน 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล

       การจำแนกพันธุ์เผือก

         ประเทศไทยมีเผือกมากมายหลายพันธุ์ศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตรได้รวบรวมพันธุ์เผือกจากแหล่งต่างๆ  ทั้งในและต่างประเทศประมาณ 50 พันธุ์  สามารถจำแนกพันธุ์เผือกเป็นกลุ่มใหญ่ๆได้ดังนี้

        1. จำแนกเผือกตามกลิ่นของหัว มี 2 ประเภทคือ

        1.1 เผือกหอม เผือกชนิดนี้เวลาตัมหรือประกอบอาหารจะมีกลิ่นหอม ได้แก่ เผือกหอมเชียงใหม่ พันธุ์ พจ.016  พจ.08  และ  พจ.019 เป็นต้น

       1.2 เผือกชนิดไม่หอม เผือกชนิดนี้เวลาต้ม หรือประกอบอาหารจะไม่มีกลิ่นหอม อย่างไรก็ตามเผือกชนิดนี้บางพันธุ์ถึงแม้จะไม่มีกลิ่นหอมแต่ก็มีข้อดีตรงที่มีลักษณะเนื้อเหนียวแน่น น่ารับประทานเช่นกัน ได้แก่ พันธุ์เผือก  พจ.06 พจ.025 และ พจ.012 เป็นต้น

       2. การจำแนกเผือกตามสีของเนื้อ มี 2 ประเภท คือ

       2.1 เผือกเนื้อสีขาวหรือสีครีม เผือกชนิดนี้เมื่อผ่าดูเนื้อในจะพบว่า มีสีขาว หรือสีครีม ได้แก่ เผือกพันธุ์ พจ.06 พจ.07 พจ.025 พจ.014 (เผือกบราซิล) พันธุศรีปาลาวี (อินเดีย) และพันธุ์ศรีรัศมี (อินเดีย) เป็นต้น

       2.2 เผือกเนื้อสีขาวปนม่วง เผือกชนิดนี้เมื่อผ่าหัวดูเนื้อ จะพบว่ามีสีขาวลายม่วงปะปนอยู่ซึ่งจะมีสีม่วงมากหรือน้อยแตกต่างกันในแต่ละพันธุ์ ได้แก่ เผือกหอมเชียงใหม่ พันธุ์ พจ.016 พจ.08 พจ.05 และ พจ.020 เป็นต้น

      นอกจากนี้ ยังมีจำแนกเผือกตามจำนวนหัวขนาดใหญ่ต่อต้น คือ เป็นหัวใหญ่หนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งหัวต่อต้น จำแนกตามการแตกกอ เช่น แตกกอน้อย (3-10 ต้น) ปานกลาง (10-20 ต้น) และมาก (มากกว่า 20 ต้นขึ้นไป) เผือกหอมเชียงใหม่ เผือกพันธุ์พิจิตร 1 (พจ.016)     

 

 

 

 

 

 

 

 

เปรียบเทียบพันธุ์เผือกที่มีการปลูในประเทผสไทย

พันธุ์

ใบ

การแตกกด

(จำนวนหัว)

สีเนื้อ

กลิ่น

ผลผลิต

(ต้น/ไร่)

%แป้ง

%น้ำตาล

หมายเหตุ

เผือกหอมเชียงใหม่

 

 

 

รูปหัวใจ ก้านใบสีเขียว

ปลายก้านใบสี

ม่วง จุดกลาง

ใบสีม่วง

มาก หัวใหญ่

1 หัว หัวเล็ก

20-30 หัว

หัวเล็กอยู่ใน

ต้นแม่

ขาวปนม่วง

หอม

4

14.0

2.2

-

พจ.016

(พิจิตร1)

รูปหัวใจ ก้านใบสีเขียว

ปลายก้านใบสี

ม่วง จุดกลาง

ใบสีม่วง

ปานกลาง

หัวใหญ่ 1 หัว

หัวเล็ 15-18 หัว

หัวเล็กอยู่ห่างต้นแม่

ขาวปนม่วง

หอม

4-6

23.0

2.6

เหมาะสำหรับ

อุตสาหกรรม

แปรรูป

พจ.06

 

 

 

รูปหัวใจ ก้านใบสีเขียวเข้ม

ตลอดทั้งก้าน

ไม่มีจุดสีม่วง

อยู่กลางใบ

ปานกลาง

หัวใหญ่ 3-4 หัว

หัวเล็ก

10-15 หัว

หัวเล็กอยู่ห่างจากต้นแม่

ขาวเนื้อ

เหนียว

แน่น

 

ไม่หอม

4-7

10.8

2.4

ทนโรคและ

แมลงค่อนข้าง

ทนแล้ง

พจ.025

รูปหัวใจ ก้าน

ใบสีเขียวเข้ม

ทั้งก้าน ไม่มี

 จุดกลางใบ

ปานกลาง

หัวใหญ่ 3-4 หัว

หัวเล็ก 15-18 หัว

ขาวเนื้อ

แน่น

ไม่หอม

4-7

10.0

2.3

ทนโรคและ

แมลงค่อนข้าง

ทนแล้ง

พจ.08

รูปหัวใจ ก้านใบสีเขียว

ปลายก้านใบสี

ม่วง จุดกลาง

ใบสีม่วง

มาก

หัวใหญ่ 1  หัว

หัวเล็ก 30-40 หัว

ขาวปนม่วง

หอม

4

16.0

1.4

-

พจ.05

รูปหัวใจ ก้านใบสีเขียว

ปลายก้านใบสี

ม่วง จุดกลาง

ใบสีม่วง ต้นสูง

มาก

หัวใหญ่ 1 หัว

หัวกลาง/หัวเล็ก

20-25 หัว

ขาวปนม่วง

หอม

4-4.5

19.0

2.2

เหมาะสำหรับ

อุตสาหกรรม

แปรรูป

 

       การขยายพันธุ์เผือก

     เผือกเป็นพืชหัวที่สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี ดังนี้

      1.การเพราะเมล็ด เป็นวิธีที่ง่ายแต่ใช้เวลานานกว่าจะย้ายปลูกลงแปลงได้ ในประเทศไทยเผือกแต่พันมีการออกดอกและติดเมล็ดน้อยเกษตรกรไม่นิยมขยายพันธุ์โดยวิธีนี้

     2.การเพราะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นวิธีการขยายพันธุ์เผือกที่ปลอดจากเชื้อที่ติดมากับต้นพันธุ์ได้เป็นปริมาณครั้งละมากๆ แต่ต้นทุนการผลิตสูงเกษตรกรไม่นิยมขยายพันธุ์โดยวิธีนี้

     3.การขยายพันธุ์โดยใช้หน่อ เป็นส่วนที่แตกออกมาเป็นต้นเผือกขนาดเล็กอยู่รอบๆ ต้นใหญ่ เมื่อแยกออกจากต้นใหญ่ หรือต้นแม่แล้วสามารถนำไปลงแปลงได้โดยไม่ต้องเสียเวลาไปเพาะชำ

     4.การขยายพันธุ์โดยใช้หัวพัน หรือที่เกษตรกรเรียกว่า ลูกซอ หรือลูกเผือก ซึ่งเป็นหัวขนาดเล็กที่อยู่รอบๆ หัวเผือกขนาดใหญ่วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมทั่วไปทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ แต่ในการปลูกแต่ละครั้ง ควรเลือกเผือกที่มีขนาดปานกลางไม่เล็กหรือใหญ่เกินไปหัวพันธุ์มีขนาดสม่ำเสมอจะทำให้เผือกที่ปลูกแต่ละต้นลงหัวในเวลาไกล้เคียงกัน เก็บเกี่ยวได้พร้อมกัน และที่สำคัญจะทำให้ไม่มีหัวขนาดเล็กและใหญ่แตกต่างกันมาก

    

 

     ฤดูปลูก

     ประเทศไทยสามารถปลูกเผือกได้ทุกภาคและทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี ซึ่งถ้าเป็นแหล่งที่มีน้ำชลประทานดีอยู่แล้ว เกษตรกรจะปลูกเผือกเมื่อไรก็ได้ แต่โดยทั่วไปเกษตรกรนิยมปลูกเผือกในช่วงฤดูฝนในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนและช่วงฤดูแล้งช่วงหลังการทำนาเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์

       ฤดูปลูก

        ฤดูฝน ปลูกมากในสภาพดินที่ดอนอาศัยน้ำฝน มีบางท้องที่ปลูกในสาพพื้นที่ลุ่มหรือนา

         ฤดูแล้ง ปลูกหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว หากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ภายในเดือนธันวาคม จะปลูกผักก่อนการปลูกเผือกในเขตชลประทานจะสามารถปลูกเผือกได้ตลอกทั้งปี

        สภาพพื้นที่การปลูกเผือก

        เผือกสามารถปลูกได้หลายลักษณะตามสภาพพื้นที่  ดังนี้

        1. การปลูกเผือกในสภาพไร่ เป็นการปลูกเผือกในสภาพที่ดอนทั่วๆไป เช่น ตามไหล่เขาพื้นที่ไร่ต่างๆ การปลูกเผือกที่ดอนควรปลูกในฤดูฝน เริ่มปลูกเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ถ้ามีแหล่งน้ำสามารถให้น้ำเผือกได้ก็สามารถปลูกได้ตลอดปี

        1.1 การเตรียมดิน ก่อนการปลูกเผือก 1-2 เดือน ใช้แทรกเตอร์ไถดะด้วยผาล 3 หรือ 4 ตากไว้ระยะหนึ่งแล้วไถแปรเพื่อย่อยดิน ถ้าบริเวณดินปลูกดังกล่าวเป็นดินมีกรดสูง หรือดินเปรี้ยวควรหว่านปูนขาวรวมทั้งปุ๋ยคอกหรืออินทรียวัตถุ ก่อนดำเนินการไถเตรียมดิน หลังจากไถแปรเรียบร้อยแล้ว ให้เตรียมหลุมกว้าง 30 - 40 เซนติเมตร  ลึก 20-30 เซนติเมตร ระยะปลูกระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 1 เมตร ถ้ามีปุ๋ยคอกให้ใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุมก่อนปลูก

       1.2 การเตรียมพันธุ์ การเตรียมพันธุ์เผือกที่บนดอน ใช้หัวพันธุ์พืชที่มีขนาดไกล้เคียงกัน  โดยเฉลี่ยหัวพันธุ์มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เซนติเมตร ไม่จำเป็นต้องเพาะเผือกให้แตกหน่อก่อนการปลูก ทำการปลูกโดยฝังลงไปในหลุมที่เตรียมไว้ได้เลย พื้นที่ 1 ไร่ จะให้หัวพันธุ์เผือก 100-200 กิโลกรัม การปลูกเผือกบนที่ดอนบางแห่งมีปลวกชุกชุม หรือแมลงใต้ดินมากควรใช้สารเคมีคาร์โบฟุแรน (ฟูราดาน) รองกันหลุมก่อนปลูก

       1.3 การปลูก การปลูกโดยใช้รถแทรกเตอร์ยกร่อง ใช้ระยะระหว่างร่องประมาณ 1 เมตร ปลูกโดยวางหัวเผือกลงในร่องระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร นำดินบางส่วนจากสันร่องกลบหัวพันธุ์จากนั้นคอยพูนโคน เมื่อเผือกเจริญเติบโตขึ้น เนื่องจากหัวเผือกก็คือลำต้นใต้ดินที่ขยายออกเพื่อสะสมอาหาร จึงเจริญขึ้นบนมากกว่าลงหัวลึงลงไปจึงต้องคอยพูนโคนอยู่เสมอจนในที่สุดสันร่องเดิมเมื่อเริ่มปลูกกลายเป็นร่องทางเดิน

       1.4 การให่น้ำ เผือกเป็นพืชหัวที่ขึ้นได้ดีในดินที่มีความชุ่มชื้น ฉะนั้นการปลูกเผือกในที่ดอน  นอกจากจะอาศัยน้ำฝนแล้วจะต้องมีแหล่งน้ำให้ความชุ่มชื้นเผือกอยู่เสมอ  ซึ่งถ้าปลูกเผือกไม่มากควรรดน้ำด้วยสายยาง  แต่ถ้าปลูกมากกว่า 10 ไร่ขึ้นไป ควรให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ แบบเคลื่อนย้ายได้ชั่วโมงละ 3-5 ไร่

       1.5 การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ย 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ก่อนปลูกรองกันหลุมด้วยปุ๋ยปรับสภาพดินอัตรา 1-3 กำมือต่อต้น และปุ๋ยสูตร 16-8-8 ตรา 5 นางฟ้าทรงฉัตร 50-100 กิโลกรัม/ไร่  ต่อจากนั้นใส่ครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 2 เดือน ใช้สูตร 16-8-8 หรือ 15-15-15 อัตรา 50-100 กิโลกรัม/ไร่ และครั้งที่ 3 เมื่ออายุ 3-4 เดือน ใช้สูตร 13-13-21 ตรา 5 นางฟ้าทรงฉัตร อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ จะทำให้เผือกน้ำหนักหัวดี ในการใส่ปุ๋ยแต่ละครั้งควรจะพรวนดินและรดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอรากเผือกจะได้ดูดซับปุ๋ยไปใช้ประโยชน์ได้สะดวก

       1.6 การกำจัดวัชพืช และการพูนโคน ในระยะ 1-3 เดือนแรก ต้นเผือกยังเล็กควรมีการถากหญ้าหรือใช้สารกำจัดวัชพืช พร้อมทั้งพรวนดินโคนต้นเดือนละ 1 ครั้ง เมื่อต้นเผือกโตใบคลุมแปลงมากแล้วไม่จำเป็นต้องกำจัดวัชพืชอีกจนกว่าจะเก็บเกี่ยว

       1.7 การคลุมแปลง ในแหล่งปลูกเผือกที่มีเศษเหลือของพืช เช่น ฟางข้าว เปลือกถั่วและหญ้าคา เป็นต้น ควรนำมาคลุมแปลงปลูกเผือกเพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้อและอุณหภูมิ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันวัชพืชและการแตกหน่อของเผือกบางส่วนได้อีกด้วย สำหรับประเทศญี่ปุ่น จะใช้พลาสติกสีดำเป็นวัสดุคลุมแปลงเผือก การใช้วัสดุคลุมแปลงปลูกเผือกจะทำให้เผือกมีผลผลิตสูงขึ้น 18-20 %

       1.8 การเก็บเกี่ยว เมื่อเผือกมีอายุได้ 5-6 เดือน สังเกตเห็นใบเผือกจะเล็กลง ใบเผือกใบล่างๆ จะมีสีเหลือง เหลือยอดใบ 2-3 ใบ จึงสามารถขุดเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

      สำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิตเผือกในที่ดอนที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น เริ่มแรกจะใช้เครื่องตัดหญ้าแบบสพายหลังตัดต้นเผือกเหลือแต่ต้นตอสูงกว่าพื้นดินประมาณ 1 คืบ แล้วใช้แทรกเตอร์ที่ออกแบบใบการเก็บเกี่ยวเผือกโดยเฉพาะสามารถเก็บเกี่ยวเผือกได้รวดเร็ววันละหลายไร่และประหยัดแรงงานในการเก็บเกี่ยวกว่าใช้แรงงานคนขุดมากคาดว่าวันข้างหน้าการเก็บเกี่ยวเผือกในที่ดอนของไทยจะพัฒนาเป็นการใช้แทรกเตอร์เก็บเกี่ยวต่อไป

       2. การปลูกเผือกริมร่องสวน เป็นการปลูกเผือกริมร่องผัก หรือริมคันนา หรือริมร่องสวน การปลูกเผือกแบบนี้ส่วนมากจะเป็นแหล่งที่เกษตรกรนิยมปลูกผักบนร่องสวนอยู่แล้ว เช่น นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร และ สุพรรณบุรี เป็นต้น

       2.1 การเตรียมดิน ใช้พลั่วแทงดินสาดโกยขึ้นทำฐานรอง มีลักษณะคล้ายคันนาไปตามร่องสวน หรือรร่องปลูกผัก เตรียมหลุมปลูกโดยมีระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร

       2.2 การเตรียมพันธุ์ นำหัวพันธุ์เผือกที่มีขนาดเท่าๆ กันไปเพาะชำในแปลงเพาะชำ โดยมีแกลบเป็นวัสดุเพาะชำ วิธีการเตรียมแปลงเพาะชำให้ไถพรวนดิน 1 ครั้ง เพื่อปรับดินให้เรียบสม่ำเสมอปูนขี้เถ้าแกลบหนาประมาณ 1-2 นิ้ว จากนั้นนำลูกเผือกมาวางเรียงบนขี้เถ้าแกลบให้เต็มแปลง แล้วใช้ขี้เถ้าแกลบทับบางๆ รดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอทุกวัน จนกล้าเผือกมีอายุประมาณ 2-3 สัปดาห์ โดยจะมีใบแตกออกมา 2-3 ใบ สูงประมาณ 20-25 เซนติเมตร ก็สามารถย้ายปลูกได้ พื้นที่ปลูกเผือก 1 ไร่ จะใช้พันธุ์เผือกประมาณ 100-200 กิโลกรัม

       2.3 การปลูก นำลูกเผือกที่งอกแล้ว 2-3 ใบ มาปลูกในหลุมห่างกันประมาณ 50 เซนติเมตร หลุมละ 1 ต้น

       การปลูกเผือกริมคันนาของเกษตรกรชาวนาจังหวัดอยุธยา อ่างทอง และสุพรรณบุรี คล้ายการปลูกเผือกข้างร่องพืชผักหรือริมร่องสวนและมีการดูแลรักษาคล้ายกัน

       ส่วนการปลูกเผือกบนร่องสวนผักนั้นจะปลูกคล้ายๆ กับการปลูกเผือกบนที่ดอนโดยใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระหว่างแถว 100 เซนติเมตร (1 เมตร) การรดน้ำจะเหมือนการรดน้ำผักแบบยกร่องแถวไป ส่วนการดูแลรักษาอื่นๆ ก็เหมือนการปลูกเผือกในที่ดอน

       2.4 การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ย 3 ครั้ง เช่นเดียวกับการปลูกเผือกที่ดอน โดยใช้สูตรปุ๋ยอัตราเดียวกัน สำหรับวิธีการใส่นั้นใส่โดยการเจาะหลุมระหว่างต้น หยอดปุ๋ยลงไป แล้วกลบดินด้วยโคลน

       2.5 การกำจัดวืชพืช กลบโคนต้นและการตัดแต่งหน่อ หลังจากปลูกเผือกได้ 1 เดือนแล้ว ควรมีการจำจัดวัชพืชและกลบโคนด้วยดินโคลนทุกเดือน และถ้าพบว่าเผือกมีการแตกหน่อมากเกินไปควรใช้เสียมแซะหน่อข้างนอกออกให้หมด เผือกจะได้มีการลงหัวได้ขนาดใหญ่ขึ้น

       2.6 การเก็บเกี่ยวผลผลิต หลังจากปลูกเผือกได้ 5-6 เดือน ใบเผือกจะเล็กลง ใบหนาขึ้น ใบช่วงล่างจะเป็นสีเหลือง และเริ่มเหี่ยวเหลือใบยอด 2-3 ใบ ให้ขุดโดยใช้เหล็กปลายแหลมขนาด 5 หุน ยาว 1 เมตร 25 เซนติเมตร มีห่างกลมทำเป็นมือถือ แทงเหล็กแหลมลงไปที่โคนเผือกอย่าให้ชิดโคนเผือกมากนักเพราะก้านเหล็กจะถูกหัวเผือกเสียหายได้ เมื่อแทงเหล็กแหลมลงไปแล้ว ก็โน้มก้านเหล็กเอียงทำมุมกับพื้นดิน 45 องศา หมุนเหล็กคว้านรอบโคนต้นเผือกเป็นครึ่งวงกลมทั้ง 2 ด้านของต้น แล้วดึกเอาเผือกขึ้นมา ผู้ที่มีความชำนาญในการใช้เหล็กแหลมจะสามารถคว้านหัวเผือกขึ้นมาได้รวดเร็วมาก

       3. การปลูกเผือกในนา เป็นการปลูกในพื้นที่นาเช่นปลูกหลังฤดูทำนา เป็นพื้นที่ที่มีระบบน้ำชลประทานดี เช่นจังหวัดสระบุรี สิงห์บุรี และนครสวรรค์ เป็นต้น

       3.1 การเตรียมดิน หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ให้ใช้แทรกเตอร์ไถดินด้วยผาล 3 หรือ 4 ตากดินไว้ระยะหนึ่งประมาณ 15-30 วัน แล้วไถย่อยดิน (ดินเปรี้ยว) ในอัตรา 200-400 กิโลกรัม/ไร่ ขึ้นยู่กับดินเปรี้ยวมากหรือน้อย โดยหว่านปูนขาวก่อนการไถพรวนต่อจากนั้นใช้รถแทรกเตอร์ยกร่อง ห่างกัน 1-1.20 เมตร เหมือนการยกร่องปลูกอ้อย

       การปลูกเผือกหลังนานั้นบางแห่ง เช่น สระบุรี และสุพรรณบุรี จะเตรียมดินแบบทำนามีการทำเทือก แล้วปล่อยน้ำออกเหลือดินโคลนนำลูกเผือกที่เพาะชำมีการแตกยอด 1-2 ใบแล้วมาปลูกแบบดำนาก็มีผลให้เผือกตั้งตัวเจริญเติบโตดีเช่นกัน

       3.2 การเตรียมพันธุ์ การปลูกเผือกในนาจะใช้ลูกเผือกที่เพาะชำจนแตกใบแล้วประมาณ 2-3 ใบ หรือสูงประมาณ 20-25 เซนติเมตรย้ายปลูกเช่นเดียวกับการปลูกเผือกริมร่องสวนและมีวิธีเตรียมกล้าเผือกเช่นเดียวกัน

       3.3 การปลูก การปลูกเผือกในนาจะปลูก 2 แบบ ถ้าปลูกแบบยอร่องจะปลูก 2 แถว แต่ถ้าปลูกแบบดำนาจะปลูกแถวเดียว

       3.3.1 การปลูกแบบแถวเดี่ยว วิธีการปลูกแบบนี้การคล้ายวิธีการทำนาโดยหลังจากเตรียมแปลงทำเทือกเสร็จแล้ว เกษตรกรจะนำลูกเผือกที่แตกใบ 1-2 ใน ไปปลูกลงแปลงแบบดำนาระยะปลูกระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระหว่างแถว 100 เซนติเมตร วิธีนี้จะให้น้ำแบบท่วมแปลงเหมือนการทำนา เมื่อเผือกตั้งตัวได้ ทำการพูนโคน (ชาวไร่เผือกภาคกลางเรียกว่า “การแทงโปะ” คือการแทงตักดินขึ้นมากองไว้ตามแถวเผือก)

       3.3.2 การปลูกแบบแถวคู่ เป็นการปลูกเผือกหลังนาแบบยกร่องแต่ละร่องห่างกัน 120-150 เซนติเมตร นำลูกเผือกที่เตรียมเพาะแล้วมีใบ 1-2 ใบมาปลูกข้างร่อง 2 ข้างแบบแถวคู่โดยใช้ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระหว่างแถว 40 เซนติเมตร

       3.4 การใหน้ำ การปลูกเผือกหลังนาส่วนใหญ่จะตรงกับฤดูร้อน จำเป็นต้องให้น้ำเผือกให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ เผือกจึงเจริญเติบโตและลงหัวได้ดี ถ้าเป็นการปลูกเผือกแบบเดียวกับการทำนาก็ควรปล่อยน้ำท่วนแปลงเป็นระยะ อย่าให้แปลงปลูกเผือกขาดน้ำ โดยให้น้ำสูงกว่าพื้นดิน 10-15 เซนติเมตร

       ส่วนการปลูกเผือกแบบยกร่องและปลูกแบบแถวคู่นั้นจะให้น้ำแบบสูบน้ำ หรือปล่อยน้ำเข้าตามร่องให้ดินปลูกข้างต้นเผือกมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ

       การเก็บรักษา

       เผือก เป็นพืชหัวที่เก็บรักษาได้นานพอสมควร หลังจากกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรนำเผือกไปไว้ในร่มเงามีอากาศถ่ายเทได้สะดวกไม่อับลมเป็นที่ที่อากาศค่อนข้างเย็น เช่น ใต่ร่มไม้ หรือใต้ถุนบ้าน เป็นต้น ต่อจากนั้นทำการแยกดินที่ติดกับหัวและแยกรากแขนง คัดแยกหัวแต่ละขนาด เช่น ใหญ่พิเศษ ใหญ่ กลาง และเล็ก แล้วบรรจุใส่ภาชนะที่เหมาะสม เช่น ถุงพลาสติกขนาดใหญ่แบบเจาะรู้ได้ หรืออาจเป็นเข่ง หรือลังพลาสติก ข้อควรปฏิบัติเพื่อเก็บรักษาหัวเผือกไว้ได้นาน และไม่เน่าเสียง่าย ดังนี้

       1.ก่อนขุดเผือกประมาณ 15-30 วัน ไม่ควรนำน้ำเข้าแปลง หรือรดน้ำแปลงเผือกเพราะเผือกจะดูดซึมน้ำไว้มาก เก็บไว้ไม่ได้นาน

       2.ขุดเผือกเฉพาะเมื่อเผือกมีอายุเก็บเกี่ยวแล้วผลผลิตได้ ไม่ควรเก็บเกี่ยวเผือกเมื่อมีอายุน้อยเกินไปจะเน่าเสียง่าย

       3.ในการขุดเผือกแต่ละครั้ง ควรขุดเผือกด้วยความระมัดระวังอย่าให้หัวเผือกมีบาดแผลบอบช้ำ เผือกจะเน่าเสียง่าย เมื่อพบว่าเผือกมีบาดแผล ควรแยกไว้ต่างแหกไม่ปะปนการ

       4.กรณีที่จะขนส่งเผือกไปไกลๆ หรือจะเก็บเผือกไว้นานหลายเดือน ไม่ควรล้างดินออกผึ่งให้แห้งสนิทอย่าให้เปี้ยกชื้นก่อนที่จะนำเข้าไปเก็บในโรงเก็บหรือขนส่งไกลๆ ต่อไป

       5.การขนส่งเผือกควรมีภาชนะใส่เผือกที่เหมาะสม ซึ่งต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นจะใส่กล่องกระดาษสามารถใส่เผือกซ้อนกันได้ โดยเผือกไม่ทับถมกันเป็นปริมาณมาก จึงมีผลหรือเป็นส่วนหนึ่งที่จะเก็บรักษาเผือกได้ไม่นาน

       6.ไม่ควรนำเผือกที่เก็บเกี่ยวได้ มาสุมกองกันเป็นปริมาณมากหรือขึ้นไปเหยียบย่ำเผือก ควรนำเผือกที่จะเก็บรักษาไว้นานๆ มาเก็บไว้เป็นชั้นๆ

       7.ห้องที่เก็บรักษาหัวเผือกนั้น จะต้องมีการระบายอากาศได้สะดวก อุณหภูมิประมาณ 10-15 องศาเซลเซียส

       หากมีความจำเป็นต้องเก็บรักษาควรตัดใบและรากทั้งหมดออกไม่ควรล้างน้ำ การเก็บรักษาหัวเผือก โดยการจุ่มลงไปในสารป้องการเชื้อรา แคปแทน หรือเบนเลท ความเข้มข้น 500 ส่วนในล้านส่วน (ppm) แล้วเก็บรักษาไว้ใบบ่อดิน จะทำให้หัวเผือกเน่าเสียลดลง ได้ผลดีกว่าการเก็บรักษาในขี้เลื่อยแห้ง ขี้เลื่อยชื้น และถุงพลาสติก หัวย่อยหรือลูกเผือกที่เก็บรักษาไว้ในบ่อดินใต่สภาพร่มและป้องกันน้ำฝนได้จะเก็บรักษาไว้ได้นาน 6-10 เดือน อายุการเก็บรักษาขึ้นอยู่กับขนาดหัว คือ เผือกที่มีหัวขนาดเล็กจะเก็บรักษาไว้ได้นานกว่าเผือกที่มีขนาดหัวใหญ่

       นอกจากการเก็บรักษาเผือกในรูปหัวเผือกสดแล้ว ยังสามารถเก็บรักษาเผือกในรูปเผือกแห้ง โดยทำการปอกเปลือยแล้วผ่าเผือกเป็นแผ่นบางๆ ตากเผือกให้แห้งสนิท เมื่อจะนำมาบริโภค ก็สามารถนำไปนึ่ง ทอด หรือบดเป็นแป้งเผือกได้

       โรคเผือกที่สำคัญ

  • โรคใบไหม้ (โรคใบจุดตาเสื้อ)

       สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Phythoptheracolocasiae Rac. อาการบนใบเกิดจุดสีน้ำตาลฉ่ำน้ำขนาดหัวเข็มหมุดถึงขนาดเหรียญบาท ปรากฏเห็นชัดบนผิวใบ แผลขยายใหญ่ขึ้นเป็นวงๆ ต่อกัน ลักษณะพิเศษ คือ บริเวณขอบแผลมีหยดสีเหลืองข้น ซึ่งต่อมาแห้งเป็นเมล็ดๆ เกาะอยู่เป็นวงๆ เมื่อบีบจะแตกเป็นผงละเอียด สีสนิม ในระยะที่รุนแรงแผลขยายติดต่อกัน และทำให้ใบม้วนพับเข้าและแห้งเหี่ยว หรืออาจเน่าเละถ้าอากาศชื้นมีฝนพรำ

       อาการบนก้านใบ จะเกิดแผลฉ่ำน้ำยาวรี สีน้ำตาลอ่อน แผลขยายใหญ่ขึ้นเป็นวงๆ เช่นกัน ต่อมาจะเน่า แห้งเป็นสีน้ำตาล มีหยดสีเหลืองข้นด้วย ทำให้ก้านต้านทานน้ำหนักใบไม่ได้จึงหักพับ มีผลทำให้ใบแห้ง พบมากในระยะโรครุนแรงและมีลมพัด อาการเป็นระยะนี้ทำให้ผลผลิตลดลง และเชื้อนี้อาจเข้าทำลายหัวเผือกด้วยทำให้หัวเผือกเน่าเสียหายได้

        ความสัมพันธ์ของความชื้นและอุณหภูมิจะมีผลต่อการเกิดโรคเชื้อรา ทำให้โรคมีการระบาดรุนแรงหากช่วงที่ได้รับเชื้อ มีฝนตกพรำตอนไกล้รุ่ง และตอนเช้าติดต่อกัน มีฝนพรำทั้งวัน และมีลมอ่อนๆ เนื่องจากสภาพดังกล่าวเหมาะสมต่อการสร้างสเปอร์เชื้อรา ซึ่งเชื้อสร้างสปอร์บนใบเผือกได้ดีหากมีความชื้นสูง (90-100%) และอุณหภูมิต่ำ (20-25%)

  • โรคใบไหม้

        โรคนี้เป็นโรคที่รุนแรงที่สุดของเผือกที่พบในประเทศไทยและในต่างประเทศ โรคนี้เริ่มระบาดเมื่อมีฝนตกและอากาศชุ่มชื้น ถ้ามีฝนตกหนักและติดต่อกันหลายๆวัน โรคจะระบาดอย่างรวดเร็ว ในแปลงที่เป็นรุงแรง เผือกจะมีใบเหลือประมาณต้นละ   3-4 ใบ เท่านั้น เผือกที่เป็นโรคนี้ถ้ายังไม่เริ่มลงหัว หรือลงหัวไม่โตนักจะเสียหายหมด หัวที่ไม่ลงจะไม่ขยายเพิ่มขนาดขึ้น ในช่วงที่หมอกลงจัดเผือกจะเป็นโรคนี้ง่ายเช่นเดียวกัน

       การป้องกันกำจัด

       1.หากพบว่าในเผือกเริ่มเป็นโรคใบจุดตาเสื้อ ให้ตัดใบเผือกที่เป็นโรคไปเผาทำลายให้หมด ไม่ควรปล่อยทิ้งหลงเหลืออยู่ในแปลง เชื้อราจะปลิวไปยังต้นเผือกต้นอื่นๆได้

       2.ใช้พันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคใบจุดตาเสื้อในแหล่งที่มีโรคนี้ระบาดมากๆ ควรเปลี่ยนใช้พันธุ์เผือกที่ทนทานต่อโรคใบจุดตาเสื้อมาปลูกแทน เช่น พันธุ์ พจ.06 เป็นต้น

       3.แยกแปลงปลูกเผือกให้ห่างกันเพื่อลดการแพร่กระจายของโรค

       4.ไม่ควรเดินผ่านแถวเผือกในที่ขณะแปลงเผือกชื้นแฉะ เพราะทำให้เพิ่มโรคระบาดของเชื้อ

       5.ใช้สารเคมี ได้แก่ ริโดมิล อัตรา 2-3 กรัมต่อต้น หยอดลงไปที่โคนต้นจะสามารถป้องกันโรคได้ประมาณ 1 เดือน หรือใช้สารคูปราวิท 50% อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วทั้งต้น 5-7 วันต่อครั้ง และเนื่องจากเผือกมีใบลื่นมาก การฉีดสารเคมีทุกครั้งจึงควรใช่สารจับใบผสมลงไปด้วย เพื่อให้สารเคมีจับใบเผือกได้นาน

  • โรคหัวเน่า

       สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Sclerotium rolfsii โรคนี้อาจเกิดได้ระหว่างการเก็บรักษาหัวเผือกหรือปล่อยทิ้งไว้ในแปลงปลูกนานเกินไป หรือมีน้ำท่วนขังแปลงปลูกเผือกในช่วงเผือกไกล้เก็บเกี่ยว

       การป้องกันกำจัด

      1.พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้หัวเผือกที่ไกล้ช่วงเก็บเกี่ยวได้รับน้ำหรือความชื้นมากเกินไป ถ้ามีน้ำท่วมขังควรสูบน้ำออก

       2.ในระหว่างการเก็บรักษาหัวเผือกในโรงเก็บน้ำควรระมัดระวังไม่ให้หัวเผือกเชื้อ และไม่ควรกองหัวเผือกสุมกันมากๆ ควรทำเป็นชั้นๆจะได้ระบายถ่ายเทอากาศได้สะดวก

       แมลงศัตรูเผือก

      1.หนอนกระทู้ผัก เป็นแมลงศัตรูเผือกที่ระบาดเฉพาะแหล่ง ไม่พบทั่วไป แมลงชนิดนี้มีพืชอาศัยหลายชนิด เช่น บัวหลวง และพืชผักชนิดต่างๆ

       ลักษณะการทำลาย เริ่มแรกจะเป็นผีเสื้อวางไข่ไว้ตามใบเผือก แล้วฟักออกเป็นตัวหนอนอยู่เป็นกลุ่มกัดกินใบเผือกด้านล่าง เหลือไว้แต่ผิวใบด้านบน เมื่อผิวใบแห้งจะมองเห็นเป็นสีขาว ถ้าหนอนกระทู้ผักระบาดมากจะกัดกินใบเผือกเสียหายทั่วทั้งแปลงได้ ทำให้เผือกลงหัวน้อย ผลผลิตต่ำ

       การป้องกันกำจัด

      ใช้สารเคมีฉีดพ่นช่วงที่หนอนชนิดนี้ระบาดสารเคมีที่ใช้ ได้แก่ เพอเมทริน มีชื่อการค้าคือ แอมบุช 10% อีซี ใช้อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และแอมบุช 25% อีซี ใช้อัตรา 10-20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเฟนวาลีเรท มีชื่อการค้าคือ ซูมิไซดิน 20% อีซี ใช้อัตรา 15-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ซูมิไซดิน 35% อีซี ใช้อัตรา 10-20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และซูมิไซดิน 10% อีซี ใช้อัตรา 30-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออาจใช้สารเคมีอโซดริน อัตรา 28-38 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือแลนเนท อัตรา 12-15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร อย่างใดอย่างหนึ่ง พ่นในช่วงที่หนอนระบาด

       2.เพลี้ยอ่อน เป็นแมลงศัตรูเผือกที่ระบาดเฉพาะแหล่งไม่พบทั่วไป มีขนาดเล็ก ตัวอ่อนมีสีน้ำตาล โดยเพลี้ยอ่อนจะดูดกินน้ำเลี้ยงตามใบและยอกอ่อนของเผือก ทำให้เผือกแคระแกร็นไม่ค่อยเจริญเติบโต

      การป้องกันกำจัด

      ใช้สารเคมี ได้แก่ มาราไธออน อัตรา 40-45  มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือใช้สารคาร์บาริล เช่น เซฟวิน 80% 47 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นในช่วงเพลี้ยอ่อนระบาด

      3.ไรแดง เป็นแมลงศัตรูขนาดเล็กที่ระบาดเฉพาะแหล่ง ไม่พบทั่วไป ไรแดงมีรูปร่างคล้ายแมลงมุม ตัวเล็กมาก ลำตัวสีแดง พบอยู่ตามใต้ใบเผือกและยอดและยอดอ่อน โดยไรแดงจะใช้ปากดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใต้ใบเผือก ทำให้เกิดเป็นรอยจุดสีน้ำตาลหรือสีขาวอยู่ทั่วไป ถ้าระบาดมากใบเผือกจะเปลี่ยนจากสีเขียวกลายเป็นสีเทา แล้วแห้งในที่สุด ไรแดงเผือกจะพบระบาดมากในช่วงฤดูแล้ง หรือในช่วงเผือกขาดน้ำ

       การป้องกัน

       สารเคมี ได้แก่ สารไดโคฟอล เช่น เคลเทน ไดโคล หรือคิลไมท์ อย่างใดอย่างหนึ่ง อัตรา 40-50 มิลมิกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นบริเวณที่ไรแดงระบาดโดยเฉพาะใต้ใบเผือก

                                                                        ที่มา:กรมส่งเสริมการเกษตร

 

      

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Tags : การใส่ปุ๋ยเผือก

view