www.Stats.in.th
  สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

การใส่ปุ๋ยมังคุด

การใส่ปุ๋ยมังคุด

การใส่ปุ๋ยมังคุด

            พันธุ์    เชื่อกันว่ามังคุดที่ปลูกมนไทยมีเพียงพันธุ์เดียว เนื่องจากเกสรตัวผู้ของดอกมังคุดเป็นหมัน เมล็ดจะเจริญจากเนื้อเยื่อของต้นแม่ โดยไม่ได้รับการผสมเกสร ดังนั้นจึงเชื่อกันว่ามังคุดมีพันธุ์เดียว

            การเตรียมพื้นที่

         พื้นที่ดอน ให้ทำการไถพรวน เพื่อปรับพื้นที่ให้เรียบและขุดร่องระบายน้ำ  หากมีปัญหาน้ำท่วมขัง หากเป็นพื้นที่ดอนที่เคยปลูกไม้ยืนต้นมาก่อน ไม่ต้องทำการไถพรวน

         พื้นที่ลุ่ม  เป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังไม่มาก ให้นำดินมาเทกองตามผังปลูก ความสูงประมาณ 1.0 ถึง 1.5 เมตร แล้วปลูกมังคุดบนสันกลางของกองดิน หากพื้นที่มีน้ำท่วมขังมาก   ทำการยกร่องสวนให้มีขนาดสันร่องกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร ร่องน้ำกว้าง 1.5 เมตร ลึก 1 เมตร มีระบบระบายน้ำเข้าและออกเป็นอย่างดี  (สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดสงขลา)

            ระยะปลูก เนื่องจากมังคุดเป็นไม้ผลที่มีทรงพุ่มขนาดใหญ่ เจริญเติบโตช้า ระยะปลูกที่แนะนำคือ 8 ถึง 9 x 8 ถึง 9 เมตร สำหรับสวนที่จะใช้เครื่องจักรกลแทนแรงงานควรจะเว้นระยะระหว่างแถวให้ห่างพอที่เครื่องจักรกลจะเข้าไปทำงานแต่ให้ระยะระหว่างต้นชิดขึ้น โดยมีจำนวนต้นต่อไร่ประมาณ 20-25 ต้นต่อไร่

            วิธีการปลูก สามารถทำได้ทั้งการขุดหลุมปลูก  ซึ่งเหมาะกับพื้นที่ที่ค่อนข้างแห้งแล้งและยังไม่มีการวางระบบน้ำไว้ก่อนปลูก  วิธีนี้ดินที่อยู่ในหลุมจะช่วยเก็บความชื้นได้ดีขึ้น แต่หากมีฝนตกชุก น้ำขังรากเน่า และต้นจะตายได้ง่าย  ส่วนการปลูกโดยไม่ต้องขุดหลุม (ปลูกแบบนั่งแท่นหรือยกโคก)  เหมาะกับพื้นที่ฝนตกชุก วิธีนี้ช่วยในการระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ขังโคนต้น แต่ต้องมีการวางระบบน้ำไว้ก่อนจะทำการปลูก ซึ่งต้นมังคุดจะเจริญเติบโตเร็วกว่าการขุดหลุม  ทั้งนี้จุดเน้นที่สำคัญในการปลูกมังคุด คือ ควรใช้ต้นกล้าที่มีระบบรากดี ไม่ขดงอในถุง แต่หากจะใช้ต้นกล้าขนาดใหญ่ก็ให้ตัดดินและรากที่ขดหรือพันตรงก้นถุงออก

            การให้น้ำ  ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอช่วงการเจริญเติบโตทางใบ และงดให้น้ำช่วงปลายฝน ต้นมังคุดที่มีอายุตายอด 9 ถึง 12 สัปดาห์  และผ่านสภาพแล้ง 20 ถึง 30 วัน  เมื่อแสดงอาการใบตก ปลายใบบิด ก้านใบและกิ่งที่ปลายยอดเริ่มเป็นร่อง ให้กระตุ้นการออกดอกโดยการให้น้ำอย่างเต็มที่ให้มากถึง 1,100 ถึง 1,600 ลิตรต่อต้น*  จากนั้นให้หยุดดูอาการ 7 ถึง 10 วัน เมื่อพบว่าก้านใบและกิ่งที่ปลายยอดเริ่มเต่งขึ้นก็ให้น้ำ เป็นครั้งที่ 2 ในปริมาณ 1/2 ของครั้งแรก หลังจากนั้น 10 ถึง 14 วัน ตาดอกจะผลิออกมาให้เห็น และควรมีการจัดการน้ำเพื่อควบคุมให้มีปริมาณดอกเพียง ร้อยละ 35 ถึง 50 ของยอดทั้งหมด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยหลังจากมังคุดออกดอกแล้ว 10 ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของตายอดทั้งหมด ควรให้น้ำปริมาณมาก ถึง 220 ถึง 280 ลิตรต่อต้นทุกวัน จนกระทั่งพบว่ายอดที่ยังไม่ออกดอกเริ่มมียอดอ่อนแทนตาดอก  จึงค่อยให้น้ำตามปกติ คือ 80 ถึง 110 ลิตรต่อต้น และจะต้องให้น้ำในปริมาณนี้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องทุกวัน เพื่อให้ผลมังคุดมีพัฒนาการที่ดี

            การใส่ปุ๋ย จะแบ่งใส่ตามระยะพัฒนาของต้นและการเก็บเกี่ยวเป็น 3 ระยะ ดังนี้

            1. เพื่อบำรุงต้นหลังการเก็บเกี่ยว  ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 ในปริมาณ 1 ถึง 3 กก./ต้น

            2. เพื่อช่วยการออกดอก (ช่วงปลายฝน)  ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 ในปริมาณ 1 ถึง 3 กก./ต้น      

            3. เพื่อบำรุงผล (หลังติดผล 3-4 สัปดาห์) ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 ในปริมาณ 1 ถึง 3 กก./ต้น   

            การเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวผลมังคุดที่แก่พอเหมาะ เมื่อผลเริ่มเป็นระยะสายเลือด คือ ผลที่มีสีเหลืองอ่อนปนสีเขียว มีจุดประสีชมพูกระจายอยู่ทั่วผล แนะนำให้เก็บเกี่ยวด้วยตะกร้อผ้าเพื่อป้องกันผลตกลงมากระแทกกับพื้นและรอยขีดข่วนที่ผิว

            โรคและแมลงศัตรูที่พบ  อาการผิดปกติที่เกิดกับส่วนต่างๆ ของมังคุด  อาจจะมีสาเหตุมาจากการทำลายของโรค แมลงหรืออาจจะเกิดจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ของมังคุด โรคแมลงและอาการผิดปกติที่สำคัญ ได้แก่ หนอนชอนใบ หนอนกินใบ เพลี้ยไฟ ไรแดง โรคใบจุด  โรคใบแห้งและขอบใบแห้ง อาการยางไหลที่ผิว และอาการเนื้อแก้ว

Tags : การใส่ปุ๋ยมังคุด

view